วันจันทร์ที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2555

อาการใน 'ลูกแรกเกิด’ ที่พ่อแม่ต้องพึงระวัง

1 .อุณหภูมิร่างกายลูกสูง-ต่ำผิดปกติ

ปกติอุณหภูมิเด็กแรกเกิดนั้น จะอยู่ที่ประมาณ 37 องศาเซลเซียส ซึ่งหากลูกปกติ อุณหภูมิไม่ควรจะมากกว่า หรือต่ำกว่า 0.5 องศา สิ่งที่ต้องระวังคือ เมื่ออุณหภูมิมากกว่า 37.5 องศาเซลเซียส คือตัวลูกจะร้อน คุณพ่อ หรือคุณแม่ ควรใช้เทอร์โมมิเตอร์วัดอุณหภูมิทางรักแร้นาน 3-5 นาที แล้วอ่านค่า ทั้งนี้ไม่ควรเอาใส่ในปากเด็ก เนื่องจากเด็กจะกัด ทำให้ปรอทแตกได้ ส่วนปรอทที่ใช้วัดทางหน้าผาก อาจอ่านค่าผิดพลาดได้ ไม่แนะนำให้ใช้ในเด็กเล็ก และถ้ามีไข้ควรพบแพทย์ทันที

ส่วนกรณีที่ลูกตัวเย็นคุณแม่สามารถใช้มือสัมผัสได้ว่า ลูกตัวเย็น พร้อมกับสังเกตว่าปลายมือปลายเท้าเขียวคล้ำหรือไม่ หากลูกยังมีอาการเขียวคล้ำ และดูซึมๆ ควรรีบพาเด็กไปพบแพทย์ เนื่องจากเด็กอาจมีภาวะติดเชื้อได้ ถ้าเด็กอายุน้อยกว่า 1 เดือนมีไข้ ไม่ควร ให้ทานยาลดไข้เองโดยเด็ดขาด เนื่องจากอาจเป็นการปิดบังอาการ และเกิดอันตรายต่อเด็กได้ อย่างไรก็ดี ในช่วง 0-28 วัน หรือหลังคลอด 1 เดือน ไม่ควรพาลูกออกไปเที่ยวนอกบ้าน เพราะลูกยังมีการปรับตัวในเรื่องอุณหภูมิของร่างกายยังไม่ดี อาจเจ็บป่วย และติดเชื้อได้ง่าย

2. ลูกผิวเหลืองจนผิดสังเกต

เด็กปกติผิวควรเป็นสีชมพูแดงดี ถ้าเมื่อไหร่กดดูสีผิวลูกแล้ว ลูกมีอาการสีผิวออกเหลืองส้มเหมือนทาขมิ้น ควรรีบพามาพบแพทย์ ซึ่งในเด็กปกติอาจมีอาการตัวเหลืองได้ในวันที่ 3-5 หลังกลับจากโรงพยาบาล จากนั้นจะค่อยๆ ดีขึ้นภายในอายุ 7 วัน โดยอาการตัวเหลือง จะเริ่มเหลืองจากหน้า ลงไปเรื่อยๆ จนถึงขา แต่เวลาหายเหลืองจะหายจากขาขึ้นมาเรื่อยๆ จนถึงหน้า

ถึงกระนั้น ถ้าหากกลับบ้านแล้วลูกมีอาการตัวเหลืองถึงขา ซึม ไม่กินนม เมื่อดูอาการแล้วไม่หายภายใน 7 วัน ควรรีบพามาพบแพทย์โดยเร็ว เนื่องจากภาวะตัวเหลือง ถ้าปล่อยทิ้งไว้นาน อาจทำให้เด็กมีอาการผิดปกติ ชักเกร็ง และพัฒนาการช้ากว่าเด็กปกติได้

3. ดูดนมจากเต้านานจนเหนื่อยหอบ

ปกติเด็กแรกเกิดจะดูดนม ประมาณ 1-2 ออนซ์ต่อครั้ง ขึ้นอยู่กับขนาดน้ำหนักตัวของเด็ก โดยปกติใช้เวลาในการกินนม ไม่เกินครึ่งชั่วโมง จากนั้นเด็กจะหลับไปแล้วตื่นขึ้นมาอีกครั้ง ประมาณ 3 ชั่วโมงเพื่อกินนมอีก อย่างไรก็ดี ในกรณีกินนมแม่ เด็กอาจจะดูดบ่อยทุกๆ 1-2 ชั่วโมง และใช้เวลาประมาณ 20-30 นาที หากเกิดความผิดปกติ ลูกจะดูดนมได้น้อยลง ซึม หรือ ร้องกวน และจะใช้เวลาในการดูดนมนานกว่าปกติ หรือ ดูดนมแล้วมีอาการหอบเหนื่อย หากมีอาการดังกล่าว ควรรีบพามาพบแพทย์ทันที


4. ไม่ถ่ายท้อง ร่วมกับท้องอืดบวม-อาเจียน

ช่วง 2-3 วันแรกเด็กจะถ่าย เป็นสีเทา หรือเขียวปนเหลือง จากนั้นจะกลายเป็นสีเหลืองทอง ถ้ากินนมแม่จะถ่าย เป็นฟอง หรือเป็นเม็ดมะเขือ ปนน้ำเนื้อเละๆ โดยถ่ายวันละ 6-10 ครั้ง ซึ่งอาการดังกล่าวไม่ใช่ภาวะท้องเสียแต่อย่างไร แต่เพราะนมแม่จะช่วยให้ย่อยได้ง่าย แต่ถ้ากินนมผสมจะถ่ายวันละ 2-3 ครั้ง ขึ้นกับชนิดของนมผสมที่รับประทาน

อย่างไรก็ดี ถ้า 2-3 วันไม่ถ่ายเลย พร้อมกับมีอาการท้องอืดบวม ดูไม่สบายตัว ประกอบกับมีอาการอาเจียนร่วมด้วย ต้องระวังภาวะลำไส้อุดตันแต่กำเนิด หรือถ้าอุจจาระมีมูกเลือดปน ควรพามาพบแพทย์ทันที เพราะอาจมีภาวะติดเชื้อในลำไส้ หรือเกิดภาวะแพ้นมวัวได้ ทางที่ดีควรกินนมแม่จะดีกว่า


5. อาการชัก

ปกติเด็กวัยนี้จะมีการสะดุ้ง ผวา สะอึก หรือมีภาวะแขนขาสั่น แต่จับแล้วจะหยุด พอปล่อยอาจจะ มีอาการสั่นๆ อีกเล็กน้อย อาการที่ ผิดปกติในทารกแรกเกิดนี้ การชักจะไม่เกร็งกระตุกเหมือนในเด็กโต แต่อาจมีอาการแค่เกร็ง ตาลอย และกระพริบตาถี่ๆ กำมือ เหมือนว่ายน้ำ ขาถีบสูงเหมือนปั่นจักรยาน ปากจะขมุบขมิบคล้ายดูดนมตลอดเวลา โดยมีอาการตาลอยค้างร่วมด้วย ซึ่งอาการแบบนี้ คุณหมอบอกว่า ควรรีบพามาพบแพทย์ทันที เพราะอาจมีความผิดปกติทางสมอง เป็นโรคทางเมตาบอลิก หรือมีการติดเชื้อได้

นอกจากนี้ คุณหมอได้ให้คำแนะนำกับคุณพ่อคุณแม่มือใหม่ ถึงการดูแลลูกรักเพิ่มเติมด้วยว่า เรื่องสะดือ ถือเป็นเรื่องสำคัญเช่นกัน เนื่องจากสะดือจะติดตัวเด็กมาตั้งแต่เกิด และจะหลุดภายใน 7-14 วัน ถ้าหากดูแลไม่ดี อาจทำให้สะดืออักเสบ และติดเชื้อได้ ดังนั้นควรทำความสะอาดสะดือลูกด้วยแอลกอฮอล์ หรือใช้น้ำอุ่นๆ เช็ดรอบๆ สะดือหลังอาบน้ำเสร็จทุกครั้ง ถ้าหากเกิดความความผิดปกติ เช่น เป็นแผล หรือเริ่มมีเลือดออก ดูแล้วอาการไม่ดีขึ้น ให้รีบพาไปพบแพทย์ทันที

ขณะที่ดวงตาของเด็กแรกเกิดก็ต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษเช่นกัน เนื่องจากเด็กในช่วงนี้ ยังไม่สามารถกระพริบตาได้ดี อาจทำให้เชื้อโรคต่างๆ เข้าตาได้ง่าย ทางที่ดีคุณพ่อ คุณแม่ ควรเช็ดทำความสะอาดรอบๆ ดวงตาของลูกบ่อยๆ อย่างน้อย 2 เวลา คือ เช้า-เย็น โดยใช้สำลีชุบน้ำต้มสุกอุ่นๆ เช็ดจากหัวตา ไปยังหางตา ทั้งนี้ไม่ควรเช็ดซ้ำไป ซ้ำมา เพราะจะทำให้รอบดวงตาของลูกช้ำได้ รวมทั้งสำลีควรใช้แล้วทิ้ง ไม่ควรนำมาใช้ร่วมกันทั้งสองข้าง

จากอาการทั้งหมด เป็นสัญญาณที่พ่อแม่จะต้องพึงระวัง อย่างไรก็ดี ช่วงเวลาหลังคลอด 1 เดือน ก่อนที่คุณหมอจะนัดลูกน้อยกลอยใจมาตรวจอีกครั้ง คุณพ่อคุณแม่ต้องหมั่นสังเกตอาการของลูกให้ดีด้วยว่า มีความผิดปกติตามอาการที่ได้กล่าวไปข้างต้นหรือไม่ ถ้าพบอาการตามที่คุณหมอบอก ให้รีบพามาพบแพทย์โดยเร็วที่สุด เพื่อจะได้ตรวจดูอาการ ความผิดปกติ พร้อมกับช่วยรักษาได้ทันท่วงที

Life & Family / Manager onine

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น